สวัสดิการพนักงานคืออะไร ต่างจากสิทธิของลูกจ้างอย่างไร

สวัสดิการพนักงานคืออะไร ต่างจากสิทธิของลูกจ้างอย่างไร

สวัสดิการพนักงานเป็นอย่างไร ? 

เงินเดือนเป็นสวัสดิการหรือไม่ ?

เวลาพัก วันหยุด และวันลา ถือเป็นสวัสดิการไหม ?

บทความนี้จะช่วยคลายข้อสงสัย และตอบคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับคุณ


สวัสดิการพนักงาน คืออะไร ?

สวัสดิการพนักงาน คือ ผลประโยชน์ใด ๆ ที่องค์กรจัดให้กับพนักงานที่อยู่ในองค์กร นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างตามปกติ เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างสะดวกสบาย และลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง, รถรับส่ง, ค่าอาหาร, ประกันสุขภาพ, ประกันอุบัติเหตุ, โบนัส, เบี้ยขยัน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ฯลฯ


สวัสดิการพนักงาน สำคัญอย่างไร ?

ไม่ใช่ว่า สวัสดิการพนักงาน จะสำคัญแค่ในมุมมองของพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่องค์กรจัดให้กับพนักงาน ก็สำคัญต่อองค์กรเช่นกัน


สวัสดิการพนักงานสำคัญต่อทั้งพนักงานและองค์กร


สวัสดิการพนักงาน สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ? 

สวัสดิการพนักงาน มีส่วนช่วยทำให้พนักงานในองค์กร มีความสุขมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีแรงจูงใจในการทำงาน และมีความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น เพราะหากพนักงานมีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง จากสวัสดิการที่องค์กรจัดให้ ก็จะทำให้พนักงานมีความเครียดน้อยลง


สวัสดิการพนักงาน สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ? 

นอกจากปัจจัยเรื่องเงินเดือน หรือค่าจ้างตามปกติ สวัสดิการพนักงาน มีส่วนช่วยทำให้พนักงานเลือกทำงานในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้องค์กรน่าเชื่อถือมากขึ้น และได้พนักงานที่มีความรู้ ความสามารถมาร่วมงาน อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ไม่รีบเปลี่ยนงาน รวมถึงเมื่อพนักงานมีสวัสดิการที่ดี พนักงานก็จะทุ่มเท ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร ซึ่งส่งผลดีต่อผลประกอบการขององค์กรในอนาคต


สวัสดิการพนักงาน และ สิทธิของพนักงาน

ตามที่ระบุไปข้างต้นว่า เงินเดือน หรือค่าจ้างตามปกติ เป็นสิทธิของพนักงานที่พึงได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่สวัสดิการที่บริษัทมอบให้กับพนักงาน นอกจากนี้ยังมีสิทธิของพนักงานอีกเป็นจำนวนมากที่อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสวัสดิการพนักงาน เช่น เวลาพัก ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน, ทำงานล่วงเวลา ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, ลากิจ ไม่ต่ำกว่า 3 วันต่อปี, เงินชดเชยหากองค์กรเลิกจ้าง โดยที่พนักงานไม่มีความผิด, ประกันสังคม, ฯลฯ


สิทธิของพนักงานมีอะไรบ้าง ?

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ระบุสิทธิของพนักงานไว้ตามกฎหมาย ได้แก่


1. เงินเดือน หรือค่าจ้างตามปกติ 

ต้องจ่ายเป็นเงินเท่านั้น โดยต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หากพนักงานทำงานล่วงเวลา ก็ต้องได้รับเงินที่เพิ่มขึ้น โดยไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันธรรมดา และไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด


2. เวลาทำงานตามปกติ

สำหรับงานทั่วไป คือ ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่องค์กรและพนักงานตกลงกัน แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

สำหรับงานที่มีสภาวะเสี่ยงอันตราย หรือมีสภาพแวดล้อมในการทำงานเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ โดยไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล คือ ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


3. เวลาพัก

ไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากพนักงานทำงานมาแล้วติดต่อกัน ไม่เกิน 5 ชั่วโมง หรืออาจพักเป็นช่วง ๆ แต่รวมแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ตามที่องค์กรและพนักงานตกลงกัน


4. วันหยุด

สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ คือ ไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ 

สำหรับวันหยุดตามประเพณี คือ ไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี รวมวันแรงงานแห่งชาติ

สำหรับวันหยุดพักผ่อน คือ ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี เมื่อพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งอาจสะสมไว้ใช้ในปีถัดไปได้ ตามที่องค์กรและพนักงานตกลงกัน


5. การทำงานล่วงเวลา

ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยองค์กรต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานเป็นรายครั้ง


6. วันลา

การลาป่วย สามารถลาได้ตามจำนวนวันที่ป่วยจริง หากพนักงานลามากกว่า 3 วันต่อเนื่องกัน องค์กรสามารถเรียกขอดูใบรับรองแพทย์จากพนักงานได้ การลาเนื่องจากคลอดบุตร หรือเจ็บป่วยจากอันตรายซึ่งเกิดจากการทำงานไม่ถือเป็นการลาป่วย โดยจะได้รับค่าจ้างในวันที่ลา ไม่เกิน 30 วันต่อปี

การลาคลอดบุตร สามารถลาได้ไม่ต่ำกว่า 98 วันต่อปี รวมการตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร โดยจะได้รับค่าจ้างในวันที่ลา ไม่เกิน 45 วันต่อการตั้งครรภ์

การลาเพื่อรับราชการทหาร สามารถลาได้ตามที่ทางการทหารเรียก โดยจะได้รับค่าจ้างในวันที่ลา ไม่เกิน 60 วันต่อปี

การลาเพื่อทำหมัน สามารถลาได้ตามที่แพทย์กำหยดและออกใบรับรอง  โดยจะได้รับค่าจ้างตามจำนวนวันที่ลา

การลากิจ สามารถไม่ต่ำกว่า 3 วันต่อปี


7. เงินชดเชย

หากองค์กรเลิกจ้างพนักงาน โดยที่พนักงานไม่มีความผิด พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ดังนี้

กรณีพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้ว อย่างน้อย 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ไม่ต่ำกว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นจำนวน 30 วัน

กรณีพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้ว อย่างน้อย 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ไม่ต่ำกว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นจำนวน 90 วัน

กรณีพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้ว อย่างน้อย 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ไม่ต่ำกว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นจำนวน 180 วัน

กรณีพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้ว อย่างน้อย 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ไม่ต่ำกว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นจำนวน 240 วัน

กรณีพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้ว อย่างน้อย 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ไม่ต่ำกว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นจำนวน 300 วัน

กรณีพนักงานทำงานกับองค์กรมาแล้ว อย่างน้อย 20 ปี พนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชย ไม่ต่ำกว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นจำนวน 400 วัน


8. ประกันสังคม

ประกันสังคม ช่วยให้พนักงานในองค์กรสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าทันตกรรม รวมถึงประโยชน์ในกรณีต่าง ๆ เช่น ว่างงาน คลอดบุตร ชรา ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับเงินสมทบที่ส่งในแต่ละเดือน

กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมระบุว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่  1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง และขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน กับทางประกันสังคม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่จ้างงาน เมื่อจ้างลูกจ้างใหม่ก็ต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันเช่นกัน และเมื่อมีลูกจ้างลาออกไปนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องแจ้งเอาชื่อลูกจ้างออกจากประกันสังคมด้วยเช่นกัน โดยต้องระบุสาเหตุของการออกจากงาน ต้องแจ้งภายใน 15 วันของเดือนถัดไป หักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคม

หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะมีความผิด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เพราะฉะนั้น เงินเดือน หรือค่าจ้างตามปกติ, เวลาทำงานตามปกติ, เวลาพัก, วันลา, วันหยุด, การทำงานล่วงเวลา และเงินชดเชย เป็นสิทธิของพนักงาน ที่ถูกระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่สวัสดิการพนักงาน รวมถึงประกันสังคม ก็เป็นสิทธิของพนักงาน ไม่ใช่สวัสดิการพนักงาน เพราะถูกระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม


อย่างไรก็ตาม หากองค์กรจัดให้พนักงานมี เวลาพัก วันลา หรือวันหยุด มากกว่าสิทธิของพนักงาน สิ่งนี้สามารถถือเป็น สวัสดิการพนักงาน ขององค์กรนั้นได้



สวัสดิการพนักงาน มีอะไรบ้าง ?


1. โบนัส และการปรับเงินเดือน

โบนัส และการปรับเงินเดือน เป็นผลตอบแทนการทำงานของพนักงานที่ทุ่มเทให้กับองค์กร โดยองค์กรอาจจัดให้กับพนักงานปีละครั้ง หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการขององค์กร


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

เป็นแรงจูงใจ เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน เหมือนเป็น และช่วยให้พนักงานมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้พนักงานรู้สึกมั่นคงในการทำงานมากขึ้น

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

โบนัส ส่งผลดีต่อผลประกอบการขององค์กรในอนาคต เนื่องจากการขึ้นเงินเดือนอาจต้องพิจารณาจากปัจจัยอายุงานของพนักงานแต่ละคนร่วมด้วย แต่โบนัสสามารถพิจารณาจากประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานคนนั้นเป็นหลัก จึงทำให้พนักงานแต่ละคนมีสิ่งจูงใจที่จะสร้างผลดีต่อผลประกอบการขององค์กร เช่น รักษาลูกค้าเดิม สร้างฐานลูกค้าใหม่ หรือควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กร

อย่างไรก็ตาม องค์กรต้องมีรูปแบบการจ่ายโบนัสที่โปร่งใส ยุติธรรม มีเกณฑ์วัดผลที่ชัดเจน และหากองค์กรไม่สามารถจ่ายโบนัสในรอบนั้นได้ ก็ต้องแจ้งสาเหตุต่อพนักงานอย่างตรงไปตรงมา

การปรับเงินเดือนต่างจากโบนัสตรงที่ การปรับเงินเดือนขึ้นเป็นเรื่องถาวร แต่โบนัสเป็นสิ่งที่องค์กรมอบให้กับพนักงานเป็นริบ ๆ ไป นอกจากนี้โบนัสในแต่ละรอบอาจไม่ได้เท่ากัน รวมถึงบางรอบอาจไม่มีโบนัสก็ได้ ส่วนการปรับเงินเดือนจะทำให้พนักงานแต่ละคน ได้รับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นทุกรอบการจ่ายเงิน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

การปรับเงินเดือน ช่วยส่งผลให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร และเลือกที่จะอยู่กับองค์กรต่อไป อัตราการลาออกของพนักงานก็จะลดลง ซึ่งทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายบางอย่างได้ เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมพนักงานใหม่

ทั้งนี้นอกจากพิจารณาจากปัจจัยอายุงานของพนักงานแต่ละคน การปรับเงินเดือนยังสามารถพิจารณาจากประสิทธิภาพของพนักงานได้เช่นเดียวกันกับโบนัส ซึ่งต้องโปร่งใส ยุติธรรม และมีเกณฑ์วัดผลที่ชัดเจน เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับผลตอบแทนจากการทุ่มเทให้กับองค์กร และพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคน 

 

2. วันลา

องค์กรอาจจัดให้พนักงานมีวันลามากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจสะสมไว้ใช้ในปีถัดไปได้ ตามที่องค์กรและพนักงานตกลงกัน ทั้งวันลากิจ วันลาพักร้อน หรือวันลาอื่นๆ เช่น การลาในวันเกิด การลาเพื่ออุปสมบท การลาเพื่อดูแลครอบครัวพนักงาน หรือการลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยให้พนักงานสามารถพักผ่อน หรือทำกิจธุระ โดยไม่ต้องกังวล และพร้อมกลับมาทำงานอย่างเต็มที่

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

องค์กรที่มีวันลาให้พนักงานในองค์กรมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ช่วยให้พนักงานในองค์กรมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เพราะพนักงานที่พักผ่อน หรือทำกิจธุระ โดยไม่ต้องกังวล เมื่อพนักงานกลับมาทำงานก็สามารถทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยให้อัตราการลาออกลดลง 

นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร โดยการจัดให้พนักงานในองค์กรมีวันลา เช่น การลาเพื่อดูแลครอบครัวพนักงาน หรือการลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ ยังเป็นการแสดงถึงความใส่ใจพนักงานในองค์กร และเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดให้พนักงานตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กร

3. การตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และ ประกันชีวิต

สุขภาพของพนักงานในองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญ หากพนักงานไม่ได้มีสุขภาพที่ดี ก็อาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพของงาน ดังนั้น องค์กรอาจจัดให้พนักงานมีการตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมถึงจัดให้พนักงานมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และ ประกันชีวิต


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยให้พนักงานมีหลักประกัน มีสุขภาพที่ดี และลดความเครียด หรือความกังวลที่อาจมีสาเหตุจากโรคภัยต่าง ๆ รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

องค์กรที่ให้พนักงานตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ย่อมทำให้พนักงานในองค์กรมีสุขภาพที่ดี รวมถึงรู้ล่วงหน้าหากมีสัญญาณอันตรายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพนักงานแต่ละคน ซึ่งส่งผลให้ช่วยลดอัตราการมาสาย หรือขาดงาน เนื่องจากการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ จึงช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ องค์กรอาจมอบประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือ ประกันชีวิตให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความใส่ใจพนักงานในองค์กร และช่วยให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร รวมถึงยังเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดให้พนักงานตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กรที่มีสวัสดิการเหล่านี้อีกด้วย


4. เบี้ยขยัน

เบี้ยขยัน คือสิ่งที่องค์กรมอบให้พนักงานที่มีความประพฤติที่ดี ไม่ขาดงาน ไม่มาสาย และไม่ทำงานผิดพลาด


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

เป็นแรงจูงใจ และเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน รวมถึงช่วยให้พนักงานมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

เบี้ยขยัน เป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างสม่ำเสมอ ลดอัตราการขาดงาน หรือมาสายของพนักงาน เนื่องจากมีเบี้ยขยันเป็นสิ่งจูงใจ ทำให้เบี้ยขยันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งส่งผลดีต่อผลประกอบการขององค์กรในอนาคต 

นอกจากนี้ เบี้ยขยันยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร รวมถึงเป็นปัจจัยที่จะทำให้พนักงานเลือกทำงานกับองค์กรที่มีเบี้ยขยัน มากกว่าองค์กรที่ไม่มีเบี้ยขยัน


5. ค่าอาหาร หรืออาหารกลางวัน

องค์กรอาจจัดให้พนักงานมีค่าอาหารในระหว่างวัน หรือมีอาหารเลี้ยงพนักงาน รวมถึงอาจจัดส่วนลดค่าอาหารให้กับพนักงานในองค์กร นอกจากนี้ บางองค์กรยังจัดให้มีมุมที่มีชา กาแฟ นม โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมต่าง ๆ ในออฟฟิศ ให้พนักงานในองค์กรสามารถรับประทานด้วย


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน ช่วยให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี และช่วยให้พนักงานได้ผ่อนคลายจากการทำงาน

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

หากองค์กรจัดให้พนักงานองค์กรมีค่าอาหารในระหว่างวัน หรือจัดส่วนลดค่าอาหารให้กับพนักงาน ย่อมถือเป็นการแสดงถึงความใส่ใจพนักงานในองค์กร และช่วยให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร 

ส่วนองค์กรที่มีอาหารเลี้ยงพนักงาน รวมถึงจัดให้มีมุมที่มีชา กาแฟ นม โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมต่าง ๆ ย่อมช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน จากการรับประทานอาหาร หรือขนมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดของบรรยากาศในการทำงาน


6. ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน หรือรถรับส่ง

องค์กรอาจจัดให้พนักงานมีค่าน้ำมัน หรือรถรับส่ง สำหรับให้พนักงานเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศ รวมถึงอาจจัดให้พนักงานมีค่าเดินทาง หากพนักงานในองค์กรจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานยังสถานที่ต่าง ๆ


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน ช่วยให้พนักงานเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยให้พนักงานสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

หากองค์กรจัดให้พนักงานองค์กรมีค่าน้ำมัน หรือค่าเดินทาง หากพนักงานในองค์กรจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานยังสถานที่ต่าง ๆ ย่อมถือเป็นการแสดงถึงความใส่ใจพนักงานในองค์กร และช่วยให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร นอกจากนี้พนักงานจะไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงสามารถมุ่งเน้นความสนใจไปที่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ส่วนองค์กรที่มีรถรับส่ง สำหรับให้พนักงานเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศ ย่อมช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน จากการเดินทางร่วมกันโดยรถรับส่ง รวมถึงช่วยลดอัตราการมาสายของพนักงาน เนื่องจากพนักงานไม่ต้องเดินทางมาทำงานด้วยตัวเอง


7. ความยืดหยุ่นในการทำงาน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้หลาย ๆ องค์กรอนุญาตให้พนักงาน Work from Home หรือทำงานจากที่บ้าน และ Work from Anywhere หรือทำงานจากสถานที่ใดก็ได้ บางองค์กรก็อนุญาตให้พนักงานทำงานแบบ Hybrid คือ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โดยสลับกันเข้าออฟฟิศ ซึ่งถือเป็นความยืดหยุ่นในการทำงานด้านสถานที่ นอกจากนี้บางองค์กรยังไม่กำหนดเวลาเข้า-ออกงานที่ตายตัว แต่กำหนดเป็นช่วง แค่มีชั่วโมงทำงานที่ครบตามที่ตกลงกัน คือ หากพนักงานเข้างานตอน 8.00 น. ก็จะเลิกงานตอน 17.00 น. หากพนักงานเข้างานตอน 9.30 น. ก็จะเลิกงานตอน 18.30 น. และหากพนักงานเข้างานตอน 11.00 น. ก็จะเลิกงานตอน 20.00 น. ซึ่งถือเป็นความยืดหยุ่นในการทำงานด้านเวลา


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน ช่วยให้พนักงานเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นอิสระมากขึ้น ช่วยให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น ช่วยให้พนักงานได้ผ่อนคลายจากการทำงาน และช่วยลดความเครียดของพนักงาน

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

องค์กรที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานถือเป็นองค์กรที่ใส่ใจพนักงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งช่วยให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร จึงช่วยให้อัตราการลาออกลดลง

เมื่อพนักงานไม่จำเป็นต้องเข้า-ออกงานในเวลาที่ตายตัว หรือทำงานจากสถานที่ใดก็ได้ โอกาสที่พนักงานจะรู้สึกกดดันจากการทำงานก็จะลดลง ทำให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นความสนใจไปที่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี รวมถึงช่วยลดโอกาสที่พนักงานจะขาดงาน เนื่องจากคาดคะเนว่าจะไปทำงานสาย จึงไม่ไปทำงาน

ส่วนองค์กรที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากสถานที่ใดก็ได้ ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ออฟฟิศ เช่น ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ 


8. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินออมพิเศษ

องค์กรอาจจัดให้พนักงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินออมพิเศษ นอกจากนี้องค์กรยังสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว เช่น หากพนักงานทำงานกับองค์กรต่อเนื่องครบตามระยะเวลาที่องค์กรกำหนด ก็สามารถรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเป็นลำดับขั้น


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยให้พนักงานมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ช่วยลดปัญหาทางการเงิน และภาระหนี้สินของพนักงานในองค์กร และเป็นแรงจูงใจ เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน รวมถึงช่วยให้พนักงานรู้สึกมั่นคงในการทำงานมากขึ้น

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

องค์กรที่จัดให้พนักงานในองค์กรมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินออมพิเศษ ย่อมช่วยให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร และช่วยให้พนักงานทำงานกับบริษัทนานขึ้น เพราะพนักงานมีสิ่งจูงใจคือผลตอบแทนที่สูงขึ้น เมื่อทำงานกับองค์กรต่อเนื่องครบตามระยะเวลาที่องค์กรกำหนด จึงช่วยให้พนักงานผูกพันกับองค์กรมากขึ้น รวมถึงช่วยให้อัตราการลาออกลดลง ซึ่งทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายบางอย่างได้ เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมพนักงานใหม่

ทั้งนี้ เมื่อพนักงานในองค์กรรู้สึกมั่นคงในการทำงานมากขึ้น พนักงานก็สามารถมุ่งเน้นความสนใจไปที่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลดีต่อผลประกอบการขององค์กรในอนาคต


9. สวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน

นอกจากการดูแลพนักงานในองค์กรแล้ว องค์กรยังสามารถแสดงน้ำใจ ช่วยเหลือ ดูแลครอบครัวของพนักงานในองค์กรได้อีกด้วย โดยอาจช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในกรณีคนในครอบครัวของพนักงานที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย และอาจมอบเงิน หรือของขวัญ เช่นของใช้ที่จำเป็น ให้กับคนในครอบครัวของพนักงานที่คลอดบุตร รวบถึงอาจมอบเงินช่วยเหลือ หรือเป็นเจ้าภาพจัดงานศพ ในกรณีที่มีคนในครอบครัวของพนักงานเสียชีวิต


สำคัญอย่างไรต่อพนักงาน ?

ช่วยให้พนักงานมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ช่วยลดปัญหาทางการเงิน และภาระหนี้สินของพนักงานในองค์กรและครอบครัวของพนักงาน ช่วยให้พนักงานรู้สึกมั่นคงในการทำงานมากขึ้น รวมถึงเป็นแรงจูงใจ เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน

สำคัญอย่างไรต่อองค์กร ?

องค์กรที่ดูแลครอบครัวพนักงานในองค์กร แสดงถึงความใส่ใจขององค์กรทั้งต่อพนักงานในองค์กร และครอบครัวพนักงาน จึงช่วยให้พนักงานและครอบครัวของพนักงาน มีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร รวมถึงผูกพันกับองค์กรมากขึ้น ซึ่งช่วยให้พนักงานทำงานกับองค์กรนานขึ้น และทำให้อัตราการลาออกลดลง

นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร รวมถึงเป็นปัจจัยที่จะดึงดูดให้พนักงานตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กรที่มีสวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน


ยังมีสวัสดิการพนักงานอื่น ๆ นอกจากที่ได้ยกตัวอย่างไป เช่น ห้องสมุดสำหรับพนักงาน, คอร์สอบรม หรือคอร์สเรียนฟรีสำหรับพนักงาน, ห้องพักผ่อนสำหรับพนักงาน, สถานที่สำหรับออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาสำหรับพนักงาน, ฯลฯ




 
 

Related articles (6)

Career Guide: วิศวกรเครื่องกล (Mechanical Engineer) คืออะไร? เนื้องาน, การเติบโต, คำถามสัมภาษณ์และตัวอย่างคำตอบ
Career Guide: วิศวกรเครื่องกล (Mechanical Engineer) คืออะไร? เนื้องาน, การเติบโต, คำถามสัมภาษณ์และตัวอย่างคำตอบ

A Mechanical Engineer is a professional who designs, develops, and tests mechanical systems and components. They use their expertise in engineering pr

เรียนรู้เพิ่มเติม
วิธีเขียนโฆษณางานที่ได้ผลในปี 2023
วิธีเขียนโฆษณางานที่ได้ผลในปี 2023

หมดยุคที่โฆษณารับสมัครงานจะเขียนขึ้นโดยยากลำบากแล้ว นี่คือวิธีสร้างโฆษณางานที่มีประสิทธิภาพในยุคนี้

เรียนรู้เพิ่มเติม
มูลค่าที่แท้จริงของการหมุนเวียนพนักงาน
มูลค่าที่แท้จริงของการหมุนเวียนพนักงาน

การต่อสู้กับการหมุนเวียนพนักงาน อย่างการลาออกหรือย้ายตำแหน่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่ไม่มีองค์กรไหนจะสามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

เรียนรู้เพิ่มเติม
บอร์ดงานที่ดีที่สุดในประเทศไทย - 2023
บอร์ดงานที่ดีที่สุดในประเทศไทย - 2023

ข้อความที่เจอบ่อย "บอร์ดงานฟรี" แต่ฟรีไม่จริง! ในบทความนี้ เราได้ลิสต์บอร์ดงานที่สามารถใช้ได้ฟรีๆเพื่อให้คุณเข้าถึงผู้สมัครที่มีคุณภาพในประเทศไทย

เรียนรู้เพิ่มเติม
Career Guide:  วิศกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) คืออะไร? รายละเอียดงาน การเติบโตของอาชีพ คำถามสัมภาษณ์และตัวอย่างคำตอบ
Career Guide: วิศกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) คืออะไร? รายละเอียดงาน การเติบโตของอาชีพ คำถามสัมภาษณ์และตัวอย่างคำตอบ

วิศวกรฝ่ายขาย (Sales Engineers) ทำงานคล้ายกับฝ่ายขาย (Salesperson, Sales executive, sales representative) แต่ไม่ได้ทำงานขายแบบทั่วไป

เรียนรู้เพิ่มเติม
เว็บไซต์งานที่ดีที่สุดใน ประเทศไทย
เว็บไซต์งานที่ดีที่สุดใน ประเทศไทย

เว็บไซต์งานฟรีที่ดีที่สุดในประเทศไทยสำหรับคุณคืออะไร? เราได้ทำการจัดอันดับเว็บไซต์งานฟรีที่ดีที่สุดในประเทศไทยมาไว้ในบทความนี้แล้ว!

เรียนรู้เพิ่มเติม